ประวัติ ของ มาร์ธา เบียทริซ พอตเตอร์ เวบบ์

เบียทริซ เวบบ์เกิดเมื่อวันที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2401 ตรงกับในรัชสมัยสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย (Queen Victoria, พ.ศ. 2380 - พ.ศ. 2444) ที่เมืองกลอสเตอร์ในมณฑลกลอสเตอร์เชอร์ (Gloucestershire) บิดาของเธอคือริชาร์ด พอตเตอร์ (Richard Potter) เป็นบุคคลที่มีฐานะดีและคุณปู่ของเธอก็เคยเป็นสมาชิกรัฐสภาของอังกฤษด้วย ในวัยเยาว์เบียทริซ เวบบ์ได้รับการศึกษาไม่มากนัก แต่ทว่าเธอก็เป็นเด็กที่ฉลาดสนใจการอ่านหนังสือปรัชญา วิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์ ใน พ.ศ. 2426 เบียทริซ เวบบ์ได้เข้าเป็นสมาชิกของสมาคมองค์กรการกุศล (Charity Organization Society : COS) ซึ่งเป็นองค์กรที่พยายามให้ความช่วยเหลือคนยากจน แต่เธอเห็นว่าการทำงานในองค์กรการกุศลไม่ใช่หนทางแก้ปัญหาความยากจน เบียทริซ เวบบ์มองเห็นว่าสาเหตุปัญหาของความยากจน คือ ปัญหามาตรฐานการศึกษาต่ำ ปัญหาการไม่มีที่อยู่ และปัญหาสาธารณสุข

ด้านชีวิตครอบครัว เบียทริซ เวบบ์เคยพลาดหวังเรื่องความรักกับโจเซฟ เชมเบอร์เลน (Joseph Chamberlain) ซึ่งเป็นนักการเมือง ต่อมาเธอได้รู้จักกับซิดนีย์ เวบบ์ (Sidney Webb, พ.ศ. 2402 - พ.ศ. 2490) ซึ่งเป็นนักปฏิรูปสังคม นักประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ ทั้งยังเป็นสมาชิกของสมาคมเฟเบียน และได้สมรสกันใน พ.ศ. 2435 ทั้งคู่เป็นบุคคลที่มีบทบาทเคียงข้างกันมาอย่างตลอด จนเบียทริซ เวบบ์ได้รับการกล่าวถึงไว้ว่าเปรียบเสมือนกับ “ลมหายใจของสามีเธอ” บทบาทสำคัญของซิดนีย์และเบียทริซ เวบบ์คือการวางแนวนโยบายสังคมนิยมระยะยาวให้อังกฤษ และผลักดันการก่อตั้ง London School of Economics (LSE) ใน พ.ศ. 2438

ในช่วงครึ่งหลังของคริสต์ศตวรรษที่ 19 อังกฤษมีความเคลื่อนไหวภายในประเทศเป็นอย่างมากทั้งทางด้านเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม ประเด็นศึกษาประการหนึ่งที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างมากจากนักวิชาการในปัจจุบัน คือ สภาพสังคมของอังกฤษโดยเฉพาะเรื่องความเป็นอยู่ของชนชั้นกรรมาชีพหรือชนชั้นแรงงาน และความเคลื่อนไหวของกลุ่มปัญญาชนเพื่อยกระดับความเป็นอยู่ของชนชั้นดังกล่าวให้มีมาตรฐานที่ดีขึ้น ความเคลื่อนไหวของกลุ่มปัญญาชนที่สมควรกล่าวถึงคือการก่อตั้งสมาคมเฟเบียนใน พ.ศ. 2427[1] ซึ่งเบียทริซ เวบบ์ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกของสมาคมเฟเบียนเหมือนกับซิดนีย์ เวบบ์สามีของเธอด้วย สมาคมนี้มีบทบาทและเป้าหมายคือ

"เสนอแนวทางปฏิรูปประเทศเพื่อช่วยเหลือประชาชนจำนวนมากที่กำลังได้รับความเดือดร้อนจากระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมและเสรีนิยม ... ยึดหลักการเปลี่ยนแปลงแบบค่อยเป็นค่อยไป (gradualism) โดยอาศัยกลไกของระบบรัฐสภา และเสนอแนวทางแก้ไขผ่านองค์กรหรือพรรคการเมืองที่มีบทบาทอยู่แล้ว ... เป็นแนวคิดสังคมนิยมที่โดดเด่นที่สุดของอังกฤษในต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20" [2]

แนวความคิดของสมาคมเฟเบียนมีอิทธิพลอย่างมากต่อการปฏิรูปสังคมอังกฤษในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 ผลงานสำคัญของสมาคมคือ Fabian Essays ได้รับการตีพิมพ์ใน พ.ศ. 2432 ซึ่งเป็นการรวบรวมคำบรรยายของสมาชิกของสมาคม โดยมีจอร์จ เบอร์นาร์ด ชอว์ (George Bernard Shaw) เป็นบรรณาธิการ นักเขียนสำคัญคนอื่น เช่น เอช. จี. เวลส์ (H. G. Wells) ซิดนีย์และเบียทริซ เวบบ์ เป็นต้น สมาชิกของสมาคมยังมีบทบาทในการผลักดันการก่อตั้งพรรคแรงงาน (Labour Party) [3] จนสำเร็จใน พ.ศ. 2449 และยังคงเป็นพรรคการเมืองที่มีบทบาทในอังกฤษมาจนกระทั่งปัจจุบัน

ใน พ.ศ. 2441 ซิดนีย์และเบียทริซ เวบบ์เดินทางไปยังอเมริกาเหนือ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์เพื่อศึกษาเรื่ององค์กรปกครองระดับท้องถิ่น เป็นผลให้ทั้งคู่ประสบความสำเร็จในการศึกษาเกี่ยวกับบทบาทและหน้าที่ขององค์กรปกครองระดับท้องถิ่นของอังกฤษ ซิดนีย์และเบียทริซ เวบบ์ยังได้เข้าไปมีบทบาทในการแก้ไขปัญหาคนยากจนที่ดำเนินการโดยรัฐบาลด้วย รัฐบาลได้จัดตั้ง Royal Commission ใน พ.ศ. 2448 เพื่อติดตามการทำงานให้ความช่วยเหลือคนยากจน ซิดนีย์และเบียทริซ เวบบ์ได้รับแต่งตั้งให้เข้าดำรงตำแหน่งในคณะกรรมาธิการดังกล่าว อย่างไรก็ตามทั้งคู่มีความเห็นขัดแย้งกับคณะกรรมาธิการคนอื่นๆ เป็นเหตุให้ทั้งคู่ออกตีพิมพ์ Minority Report นับเป็น “การปลุกให้สาธารณชนเห็นความสำคัญของหลักการประกันสังคม”[4] นอกจากนี้แล้วเบียทริซ เวบบ์ยังได้ดำรงตำแหน่งคณะกรรมาธิการเกี่ยวกับกฎหมายคนยากจน (Poor Law Commission) ในช่วง พ.ศ. 2449 - 2452 ด้วย

สองสามีภรรยาตระกูลเวบบ์ได้ร่วมกันก่อตั้งและตีพิมพ์วารสาร New Statesman ซึ่งเป็นวารสารที่เผยแพร่แนวคิดในการปฏิรูปของนักสังคมนิยมคนสำคัญ บทบาทความสำคัญของสามีภรรยาตระกูลเวบบ์คงมีมากขึ้นเรื่อยๆ ตามลำดับ ที่สำคัญประการหนึ่งนั้นเห็นได้จากการที่บ้านของทั้งคู่ในกรุงลอนดอนได้กลายเป็น “สถานที่ชุมนุมของบรรดานักสังคมนิยม” (Socialist Salon)[5] มาในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 เบียทริซ เวบบ์ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งในคณะกรรมาธิการของรัฐบาลหลายคณะ กระทั่งใน พ.ศ. 2467 ซิดนีย์ เวบบ์ซึ่งเป็นผู้แทนของพรรคแรงงานได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาสามัญ (House of Commons) และได้รับแต่งตั้งเป็นประธานคณะกรรมาธิการการค้า (President of the Board of Trade) และใน พ.ศ. 2472 ซิดนีย์ เวบบ์ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นบารอนพาสฟิลด์ (Baron Passfield) จากพระเจ้าจอร์จที่ 5แต่เบียทริซ เวบบ์ผู้เป็นภรรยาปฏิเสธที่จะใช้บรรดาศักดิ์เลดีพาสฟิลด์ (Lady Passfield) ตามสามีของเธอ

การเดินทางอีกครั้งของเบียทริซ เวบบ์ใน พ.ศ. 2475 เบียทริซ เวบบ์พร้อมกับสามีเดินทางไปยังสหภาพโซเวียต (Soviet Union) ครั้งนี้เธอได้เห็นถึงข้อจำกัดในเสรีภาพทางการเมืองของโซเวียตซึ่งเธอรู้สึกไม่ยินดีนัก แต่เบียทริซ เวบบ์ก็รู้สึกชมชอบกับการพัฒนาอย่างรวดเร็วทางด้านสาธารณสุขและการศึกษาของโซเวียตซึ่งจะนำไปสู่ “ความมั่นคงทางเศรษฐกิจและความเสมอภาคของสตรี”[6] และเธอก็ได้เขียนผลงานเกี่ยวกับโซเวียตไว้ใน ค.ศ. 1935 เบียทริซ เวบบ์ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 30 เมษายน ค.ศ. 1943 ตรงกับรัชสมัยพระเจ้าจอร์จที่ 6 (George VI, ค.ศ. 1936-1952)[7] ที่เมืองลิปฮุค (Liphook) มณฑลแฮมป์เชียร์ (Hampshire)

ใกล้เคียง

มาร์ธาแห่งเดนมาร์ก มาร์ธา เชส มาร์ธา ฮันต์ มาร์ธา ฝ่าโหดหนีอำมหิต มาร์ธา วอชิงตัน มาร์ธา สจ๊วต มาร์ธา เบียทริซ พอตเตอร์ เวบบ์ มาร์ธาแอนด์เดอะแวนเดลลาส มาร์ธา เจฟเฟอร์สัน แรนโดล์ฟ มาร์ธาและแมรี แม็กดาเลน (การาวัจโจ)